Category Archives: IT

ปั้น’เถ้าแก่น้อยแลนด์’ลุย รุกแฟรนไชส์/เกมออนไลน์ดึงสาวก

alt

“เถ้าแก่น้อย” เดินหน้าขยายอาณาจักรสู่ธุรกิจแฟรนไชส์ ยึดโมเดลสแน็กช็อปญี่ปุ่น ปั้น “เถ้าแก่น้อยแลนด์”  หวังสปีดสาขาเพิ่มดับเบิล เล็งเปิดตัวเกมเถ้าแก่น้อยออนไลน์เทียบชั้นฟาร์มวิลล์ ต่อยอดแบรนด์  ผนึกพาร์ตเนอร์รุกหนัก 10 ประเทศหลักในเอเชีย ดันตลาดส่งออกโต 20%

     นายอิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายสแน็กสาหร่าย “เถ้าแก่น้อย” เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” บริษัทอยู่ระหว่างการวางระบบแฟรนไชส์ของร้านเถ้าแก่น้อยแลนด์ เพื่อใช้ในการขยายสาขาในอนาคตทั้งรูปแบบช็อปในศูนย์การค้าขนาดใหญ่ รวมทั้งจุดจำหน่าย(คีออส) ซึ่งจะช่วยให้บริษัทสปีดการเติบโตของธุรกิจได้เร็วขึ้น จากปัจจุบันบริษัทเปิดให้บริการเถ้าแก่น้อยแลนด์ประมาณ 20 สาขา และมียอดขายราว 100 ล้านบาท และมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง
     สำหรับร้านเถ้าแก่น้อยแลนด์ เป็นโมเดลสแน็กช็อปที่มีต้นแบบจากประเทศญี่ปุ่น ฮ่องกง และผู้บริโภคให้การตอบรับดีมาก ขณะที่สแน็กช็อปเถ้าแก่น้อยแลนด์จะมีการจำหน่ายสินค้าทั้งแบรนด์เถ้าแก่น้อย และสแน็กนำเข้าจากต่างประเทศมีสัดส่วนเท่ากันที่ 50% แต่ในอนาคตจะลดสัดส่วนสินค้าแบรนด์เถ้าแก่น้อยให้เหลือ 30% เป็นแบรนด์อื่น 70%
     บริษัทยังเตรียมสนับสนุนธุรกิจแฟรนไชส์ด้วยการพัฒนาการซื้อขายสินค้าผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์(อี-คอมเมิร์ซ)มาช่วยทั้งการสั่งซื้อสินค้าของผู้บริโภค และผู้ประกอบการแฟรนส์ไชซีของสแน็กช็อปดัง
กล่าวด้วย ที่สำคัญระบบอี-คอมเมิร์ซจะช่วยดึงให้คนเข้ามาทำธุรกิจแฟรนไชส์ได้ง่ายขึ้น ประกอบกับการลงทุนที่ต่ำราว 6 หมื่นบาทต่อช็อป(รวมสต๊อกสินค้า) ขณะที่บริษัทก็มีการทำการตลาดสร้างการรับรู้ของแบรนด์เถ้าแก่น้อยอย่างต่อเนื่อง สร้างความมั่นใจให้กับผู้ลงทุนได้
     “ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการทดลองทดสอบระบบแฟรนไชส์ เพื่อเปิดรับการลงทุนได้ต้นปีหน้า การเปิดสแน็กช็อปในรูปแบบแฟรนไชส์ถือว่าสอดคล้องกับผู้ที่ต้องการเริ่มต้นทำธุรกิจ ขณะเดียวกันจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้บริษัทเติบโตได้ขึ้นด้วย ส่วนเป้าหมายในปี 2556 บริษัทต้องการขยายสแน็กช็อปเพิ่มเป็น 30 แห่ง และภายใน 3-5 ปี จะมีสาขาดับเบิลเป็นเท่าตัวหรือประมาณ 60 แห่ง” นายอิทธิพัทธ์ กล่าว 
     นอกจากนี้ บริษัทเตรียมรุกธุรกิจไอทีด้วยการสร้างเกมเถ้าแก่น้อยออนไลน์ เพื่อเจาะตลาดเกมอย่างจริงจังและให้บริการผ่านสมาร์ทโฟน ไอแพด เป็นต้น รูปแบบของเกมจะคล้ายกับเกมฮิตระดับโลกอย่าง Farmville แต่บริษัทจะนำตัวการ์ตูนเถ้าแก่น้อยเป็นตัวดำเนินเรื่อง แผนดังกล่าวจะช่วยต่อยอดแบรนด์และธุรกิจสาหร่าย รวมทั้งสร้างฐานลูกค้าให้กว้างมากขึ้น ที่สำคัญจะช่วยเสริมรายได้จากสปอนเซอร์ที่เข้ามาโฆษณาอีกทางหนึ่งด้วย
     “การรุกธุรกิจไอทีสู่เกมออนไลน์ เพื่อต่อยอดแบรนด์สาหร่ายเถ้าแก่น้อยให้เป็นเอ็ดดูเทนเมนต์ให้คนเล่นเกมเกิดจินตนาการ และจับกลุ่มเป้าหมายครอบครัว ซึ่งหากขยายฐานลูกค้ามีคนเล่นจำนวนมากก็จะช่วยดึงสปอนเซอร์สร้างรายได้อีกช่องทางหนึ่ง โดยเป้าหมายบริษัทต้องการเป็นองค์กรที่สร้างแรงบันดาลใจ สานฝันและความสุขให้กับคนเล่นเกม สาหร่ายก็สร้างความสุขในการรับประทาน ขณะที่เครื่องดื่มวิตามินอย่างไวตามิกซ์ ก็จะเสริมสร้างประโยชน์ให้กับสมองทุกส่วนมีความเชื่อมโยงกัน และในอนาคตซินโครไนซ์เข้าด้วยกัน” นายอิทธิพัทธ์ กล่าว
     ขณะที่การขยายธุรกิจสาหร่ายจะเน้นการส่งออกมากขึ้น ล่าสุดได้หารือกับพาร์ตเนอร์ในประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย เพื่อเจรจาการลงทุนและหาตัวแทนจำหน่าย(ดีลเลอร์)ในต่างประเทศเพิ่ม สอดคล้องกับแผนบริษัทที่ต้องการโฟกัสตลาดส่งออกหลัก 10 ประเทศ ในเอเชีย เพราะถือว่ามีศักยภาพและโอกาสเติบโตอีกมาก จากปัจจุบันบริษัทส่งออกราว 27 ประเทศ และจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ถดถอย ประกอบกับสาหร่ายเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยทำให้ตลาดส่งออกปีนี้ค่อนข้างนิ่งไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์ ไต้หวัน มาเลเซีย เป็นต้น
     ส่วนปี 2556 คาดว่าการส่งออกจะขยายตัวมากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจอาหารในตลาดอาเซียนที่จะเติบโตรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 2558 ผู้ประกอบการจะต้องเร่งหาพาร์ตเนอร์เพื่อเข้าไปทำตลาดในประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น ด้านตลาดในประเทศปีนี้ยังเติบโตต่อเนื่อง เพราะมีผู้เล่นรายใหม่เข้ามาทำตลาด จึงคาดว่าสิ้นปีนี้มูลค่าตลาดสาหร่ายจะขยับไปถึง 2.5 พันล้านบาท เติบโต 25% โดยบริษัทยังเป็นผู้นำตลาดมีส่วนแบ่งกว่า 60% ลดลงจากเดิม 70% ตามด้วยซีลีโกะและมาชิตะมีส่วนแบ่งใกล้กว่า 10% ตามด้วยโอโนริ 
     “ปีหน้าตลาดสาหร่ายในอาเซียนคาดว่าจะเติบโตขึ้นจากผู้ประกอบการแต่ละประเทศต้องทยอยหาตลาดใหม่ๆมากขึ้น ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นอานิสงส์ที่ทำให้ยอดขายในต่างประเทศเติบโตได้ และบริษัทยังหาพาร์ตเนอร์เพื่อทำตลาดในประเทศที่มีโอกาสโตจึงเป็นปัจจัยหนุนธุรกิจได้ดี จากปีที่คาดว่าการส่งออกจะเติบโตประมาณ 20% ส่วนตลาดในประเทศปีหน้าก็ต้องปรับกลยุทธ์การทำตลาดใหม่เพื่อรับการแข่งขันที่สูงขึ้น ขณะที่ไตรมาส 4 บริษัทจะใช้งบกว่า 10 ล้านบาท จัดแคมเปญทิ้งท้ายปีทั้งแจกรถ แจกไอโฟน กระตุ้นยอดขายถึงเดือนมกราคม รับช่วงไฮซีซันของการจับจ่ายใช้สอย” นายอิทธิพัทธ์ กล่าว  
     สำหรับภาพรวมธุรกิจปีนี้บริษัทคาดว่าจะมียอดขายรวม 2.6 พันล้านบาท เติบโต 30% โดยมีสัดส่วนรายได้จากสาหร่ายกว่า 2 พันล้านบาท สแน็กช็อปราว 100 ล้านบาท เครื่องดื่มวิตามิน 70-80 ล้านบาท ก่อนหน้านี้บริษัทคาดว่าธุรกิจจะเติบโตสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ เพราะไตรมาส 1-2 สแน็กมียอดขายเติบโตสูงมาก แต่ไตรมาส 3 กลับซบเซาเนื่องจากปัจจัยความกังวลน้ำท่วม

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 32 ฉบับที่ 2,788 วันที่  1-3  พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

TCCT ทุ่มพันล้านผุด “เมกะดาต้าเซ็นเตอร์”

กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 30 พ.ค. 2555

โซเชียลมีเดียเน็ตเวิร์กเฟื่องเม็ดเงินพุ่งหมื่นล.

โซเชียลมีเดีย ดันเม็ดเงินดิจิตอลพุ่ง ธอมัสไอเดีย ระบุ ผู้ประกอบการเทงบเพิ่ม จาก 1-2% ของงบการตลาด เป็น 10% และมีแนวโน้มจะเพิ่มเป็น 15% ขณะที่มูลค่าตลาดของอุตสาหกรรมโฆษณาผ่านดิจิตอลมีเดีย เตรียมขยับจาก 2,000 ล้าน ขึ้นเป็น 10,000 ล้านภายใน 2 ปี
นางอุไรพร ชลสิริรุ่งสกุล ดิจิตอลมาร์เก็ตติ้งกูรู ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ธอมัสไอเดีย จำกัด กล่าวในงานสัมมนา  Thailand’s 1st ‘RE-BRANDING & BRAND REVIVAL’ Summit 2011ของสถาบันวิจัยโอเมก้าเวิลด์คลาส ว่า องค์กรและผู้ประกอบการต่างๆ ให้ความสำคัญกับการสื่อสารรูปแบบดิจิตอล โดยถือเป็นแกนหลักตัวหนึ่งของการสื่อสาร จากเดิมที่ใช้งบประมาณ 1-2% ของงบการตลาด ปัจจุบันเพิ่มเป็น 10% ของงบการตลาดทั้งหมด และคาดว่ามูลค่าของอุตสาหกรรมโฆษณาผ่านสื่อดิจิตอล จากเดิมที่มีมูลค่าประมาณ 2,000 ล้านบาท จะขยับขึ้นเป็น 10,000 ล้านบาท ภายในระยะเวลา 2 ปีนับจากนี้
เครื่องมือการสื่อสารในโลกโซเชียลมีเดียหลักๆ คือ เฟซบุ๊ก (facebook) ทวิตเตอร์ (Twitter) ยูทูบ (Youtube) แอพพลิเคชัน (Application)โดยมีวัตถุประสงค์ในการใช้งานที่แตกต่างกันไป อาทิ เฟซบุ๊ก จะถูกใช้เพื่อการให้ข้อมูลของบริษัทหรือองค์กร นอกจากนี้ ยังใช้เพื่อการสื่อสารกิจกรรม หรือการทำ CSR (Corporate Social Responsibility)หรือ กิจกรรมเพื่อสังคม และการพูดคุยสื่อสารข้อมูลกับกลุ่มเป้าหมาย นอกจากนี้ ยังใช้เพื่อการขายสินค้า ซึ่งจะต้องแยกออกเป็นแอกเคาต์หนึ่ง โดยปัจจุบัน ประเทศไทยมีปริมาณผู้ใช้เฟซบุ๊กประมาณ 10 ล้านคน จากเดิมที่เคยมีอัตราการเพิ่มขึ้นต่อเดือนประมาณ 5 แสนคนต่อเดือน ปัจจุบันสัดส่วนลดลงเหลือ 3-4 แสนต่อเดือน ซึ่งคาดว่าจะถึงจุดอิ่มตัวในเร็วๆ นี้
ส่วนทวิตเตอร์ เหมาะกับการใช้เป็นคอลล์เซ็นเตอร์  หรือการกระจายข่าว แต่เนื่องจากมีข้อจำกัด ทั้งการกำหนดตัวอักษรไม่เกิน 140 ตัวอักษร รวมทั้งข้อจำกัดอื่นๆ ทำให้บริหารจัดงานยากกว่าเฟซบุ๊ก ที่สามารถเขียนข้อความสื่อสารได้ยาวกว่า และมีระยะเวลาในการสื่อสารที่นานกว่า นอกจากนี้ การเปิดแอกเคาต์ทวิตเตอร์ ส่วนใหญ่ยังเป็นผู้มีชื่อเสียง เพราะการสื่อสารต้องอาศัยการมี Follower เยอะๆ
สำหรับยูทูบ เป็นเครื่องมือที่กำลังมาแรง และได้รับความสนใจจากองค์กรต่างๆ มาก ยูทูบเหมือนเป็นอีกหนึ่งเว็บไซต์ขององค์กร ที่ปัจจุบันมีการตกแต่งเพิ่มความน่าสนใจมากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาองค์กรต่างๆ จะทำภาพเคลื่อนไหว ทำคลิปกันอยู่แล้ว การนำมากระจายในยูทูบก่อน จะช่วยทดสอบตลาด และกระแสความน่าสนใจได้ เช่น การนำหนังโฆษณามาปล่อยในยูทูบก่อนส่งลงสื่อหลักอย่างทีวี ซึ่งถ้าได้รับนิยม และมีการส่งต่อเป็น Viral Marketing หรือ การตลาดแบบไวรัส จะทำให้เกิดอิมแพ็กต์ที่แรงมาก
แอพพลิเคชัน หรือที่คนไทยเรียกสั้นๆ ว่า แอพ (App) เป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่ได้รับความสนใจมากในการทำธุรกิจในยุคปัจจุบัน ซึ่งจะมีทั้งการใช้เพื่อการขายของ และการตอกย้ำภาพลักษณ์ของแบรนด์ ซึ่งมี 2 ลักษณะ คือ การสื่อสารในลักษณะ B2B หรือระหว่างธุรกิจด้วยกัน เน้นเป็นข้อมูลสำคัญ และ B2C เป็นการสื่อสารจากองค์กรสู่ผู้บริโภค เช่น แอพของโค้ก ที่จะเน้นความสนุกสนาน ให้คนจดจำแบรนด์ ก็จะเน้นรูปแบบของแอพ ที่เป็นไลฟ์สไตล์ เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายอยู่กับแอพนั้นนานๆ กลุ่มสินค้าที่สนใจทำแอพ กันมากคือ กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม เพราะง่ายต่อการสื่อสาร
นอกจากนี้ ยังมีเครื่องมืออื่นๆ ในโซเชียลมีเดีย เช่น Facebook Places, Foursquare, Gowalla, Yelp หรือ  Location-Based ซึ่งขณะนี้นักการตลาดกำลังศึกษา ว่าจะนำมาใช้ในการสร้างประโยชน์กับโซเชียลมีเดียให้เกิดประโยชน์กับธุรกิจได้อย่างไร

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,641 5-8  มิถุนายน พ.ศ. 2554

ไอซีทีฮุบงบ 2 หมื่นล. 3G

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 2,478  12  พ.ย. – 14 พ.ย. 2552

“รมต.ไอซีที” สนับสนุนเดินหน้าโครงการขยายเครือข่ายมือถือ 3G เฟสหนึ่งมูลค่าสองหมื่นล้านบาท เปิดใจมีผู้ใหญ่ใน ครม.เศรษฐกิจ สั่งให้ยกเลิกโครงการ ปักหลักยืนตามคำสั่ง ครม.ชุดใหญ่ชี้นโนบายรัฐบาลต้องการพัฒนาเครือข่ายไอซีทีทั่วประเทศ พร้อมยืนเคียงข้างรัฐวิสาหกิจ

      ร.ต.หญิงระนองรักษ์ สุวรรณฉวี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร หรือ ไอซีที  เปิดเผยเกี่ยวกับความคืบหน้าเปิดประมูลโทรศัพท์เคลื่อนที่ย่านความถี่ 1900 เมกะเฮิรตซ์เฟสที่หนึ่งมูลค่า 20,000 ล้านบาท เพื่อให้บริการมือถือ 3G ของ บมจ.ทีโอที ว่านโยบายของกระทรวงไอซีที จะทำตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2551 และเป็นไปตามนโยบายด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ระบุว่าต้องพัฒนาโครงข่ายสื่อสารโทรคมนาคมพื้นฐานให้ครอบคลุมทั่วประเทศ และสร้างโอกาสในการเข้าถึงบริการสื่อสารอย่างเท่าเทียมกัน แม้ปัจจุบันระบบมือถือ 3G ของประเทศไทยพัฒนาล่าช้ากว่าต่างประเทศ เพราะการดำเนินธุรกิจ 3G ของ บมจ.ทีโอที ทั้งเฟสศูนย์(หมายถึง;โครงการที่ บมจ.ทีโอที ลงทุนไปแล้ว 1,700 ล้านบาท) และเฟสที่หนึ่ง ไม่เกี่ยวข้องกับการออกใบอนุญาตประกอบธุรกิจมือถือ 3G ของ สำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) เพราะหาก ทีโอที หยุดดำเนินการตามแผนจะทำให้ประเทศเสียโอกาสทางธุรกิจได้
       “ที่ประชุมครม.เศรษฐกิจ(4 พ.ย.2552)มีผู้ใหญ่คนหนึ่งบอกให้ยกเลิก  พี่ (ร.ต.หญิงระนองรักษ์) บอกว่าทำไมต้องยกเลิกเพราะนโยบายของรัฐบาลต้องการพัฒนาโครงข่ายสื่อสารโทรคมนาคมทั่วประเทศ พี่เป็นคนทำงานไม่ล้วงลูกรัฐวิสาหกิจ และจะยืนเคียงข้างรัฐวิสาหกิจแต่ต้องไปถูกทิศถูกทางและตอนนี้ ทีโอที ก็ไปถูกทิศทาง ”
       ร.ต.หญิงระนองรักษ์ ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า สำหรับการพัฒนาโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 3G ของ บมจ.ทีโอที ใช้งบประมาณจำนวน 20,000 ล้านบาทจากเดิมมีการอนุมัติ 29,000 ล้านบาทโดยใช้งบประมาณจากเงินกู้ทั้งในและต่างประเทศโดยมี กระทรวงการคลัง ทำหน้าที่ค้ำประกันเพราะจะได้ดอกเบี้ยต่ำ และ โครงการนี้ไม่ใช้งบประมาณจากโครงการไทยเข้มแข็ง
       “เรายื่นขอลดวงเงินจาก 29,000 ล้านบาทเหลือ 20,000 ล้านบาทที่ปรับลดราคาเพราะค่าอุปกรณ์ได้ปรับตัวลดลงเนื่องจากมีผู้ใช้บริการทั่วโลกและมีบริษัทผู้ผลิตที่เก่งเรื่อง 3G อยู่ในบริษัทไทยถึง 5 บริษัททำให้เราสามารถปรับลดราคาลงมาได้”
       นอกจากนี้ร.ต.หญิงระนองรักษ์ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า บมจ.ทีโอที จะเปิดให้บริการระบบ 3G (เฟสศูนย์) เป็นครั้งแรกในวันที่ 3 ธันวาคม 2552 ในเขตกรุงเทพมหานคร และ ปริมณฑล โดยมีจำนวนสถานีให้บริการ 548 สถานีฐาน และเฟสที่หนึ่งได้มอบหมายนโยบายให้ บมจ.ทีโอที ลงทุนติดตั้งเครือข่ายเพิ่มเติมในภาคอุตสาหกรรมและภาคท่องเที่ยวเป็นหลัก และยังได้มอบหมายให้ บมจ.ทีโอที และ บมจ.กสท โทรคมนาคม ตรวจสอบสัญญาสัมปทานเดิมที่ทำไว้กับคู่สัญญาทำให้ถูกต้องเพื่อพิจารณาการกำหนดแนวทางการแปรสัญญาสัมปทาน
       ขณะที่ศ.ดร.ธีรวุฒิ บุณยโสภณ ประธานกรรมการ บมจ.ทีโอที กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า บมจ.ทีโอที ได้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐมนตรีไอซีที (ร.ต.หญิงระนองรักษ์ สุวรรณฉวี)ผลักดันให้มือถือ 3G เปิดในวันที่ 3 ธันวาคม 2551 เวลาบ่าย 3 โมง ส่วนเรื่องการเปิดประมูลโครงข่าย 3G ในเฟสที่หนึ่ง บมจ.ทีโอที ได้จัดทำร่างเงื่อนไขสัญญาเป็นภาคภาษาอังกฤษเสร็จเรียบร้อยแล้วและเตรียมส่งให้สำนักงานคณะกรรมการอัยการสูงสุดพิจารณาหลักการตามระเบียบเปิดประมูลหรือไม่ซึ่งนโยบายของกระทรวงไอซีทีต้องการทำคู่ขนาน
       “เมื่อร่าง ทีโอที แล้วเสร็จเราก็จะประกาศบนเว็บเพื่อความโปร่งใสเพราะตามกำหนดการเดิมภายในเดือนเมษายน 2553 ได้ผู้ชนะการประมูล ส่วนเรื่องแผนธุรกิจเป็นเรื่องความลับของบมจ. บมจ.ทีโอที ไม่สามารถนำมาเปิดเผยได้”
      ขณะที่นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี ได้ชี้แจงการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ครม.เศรษฐกิจผ่านเว็บไซต์ www.korbsak.com ตอนหนึ่งว่า   ครม.ให้ความเห็นชอบแผนแม่บท(แผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ฉบับที่ 2 ของประเทศไทย (พ.ศ.2552-2556) ที่ผ่านความเห็นชอบจาก ครม.เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2552) นี้ไม่ได้หมายถึงการอนุญาตให้ยกเลิกสัญญาสัมปทาน  แต่หมายถึงการนำมูลค่าสัญญาทั้งหมดมาคำนวณให้เป็นมูลค่าในปี 2553  คู่สัญญาจะชำระเงินทั้งหมดในวันยุติสัญญาหรือชำระในช่วงเวลาตามกำลังความสามารถก็ตกลงกันได้     ถือว่าเป็นการยุติสัญญาสัมปทาน
      สำหรับแนวทางการแก้ไขในฐานะประธานคณะกรรมการ กนร.  เป็นคณะกรรมการที่กำกับงานนโยบายของรัฐวิสาหกิจ คงต้องเร่งประชุมโดยนำเรื่องการแก้ไขสัญญาสัมปทานที่ผิดกฎหมายนี้มาพิจารณาเพื่อส่งต่อครม.  ให้มีมติเร่งรัดกระทรวงดำเนินการ   และน่าจะได้รวมแผนยุติสัญญาสัมปทานในปี 2553 (ตามแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคม) เข้าด้วยกัน    คือเจรจาแก้ไขให้แล้วเสร็จพร้อมกันไป   ควรกำหนดเวลาด้วย   เช่นวางเป้าหมายไว้ 180 วัน
แต่อุปสรรคในการเจรจามีมาก  เช่น  รัฐ โดยทีโอที มีรายได้จากสัญญาสัมปทาน (AIS) ประมาณ 23,000 ล้านบาทต่อปี   สิ้นสุดสัญญาปี 2558 เหลืออีก 7 ปี   รายได้ส่วนนี้ไม่หนี 160,000 ล้านบาท     ส่วน กสท มีรายได้ประมาณ 15,000 ล้านบาทต่อปี   (AIS 1800  สัญญาหมดปี 2556    DTAC 800 – 1,800 สัญญาหมดปี 2561     TRUE 1,800 สัญญาหมดปี 2556)   คิดเฉลี่ยทุกสัญญา  4-9 ปี  รายได้น่าจะรวมแล้วกว่า 100,000 ล้านบาท   รวมรายได้เรื่องของมือถือที่เป็นส่วนแบ่งให้กับรัฐ เกือบ 200,000 ล้านบาท

ช็อปปิ้งออนไลน์สนามใหม่ค้าปลีก

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 2,474  29  ต.ค.- 30  ต.ค. 2552

 

จับตาช็อปปิ้งออนไลน์ เทรนด์ฮอตปีขาล  “เทสโก้ โลตัส”  เล็งยกโมเดลอี-คอมเมิร์ซบริษัทแม่ www.tesco.com  มาใช้ทั้งกระบิ หลังเปิดบริการปีเดียวแต่ยอดขายพุ่งกระฉูด  ขณะที่ “เดอะ มอลล์”  ยอมรับอยู่ระหว่างศึกษา พร้อมใช้เป็นฐานขยายตลาดคนรุ่นใหม่ คาดเปิดบริการต้นปีหน้า  ส่วนเซ็นทรัล ออนไลน์  ยอดวิ่งฉิวฐานลูกค้าทะลุกว่าหมื่นราย  เผยกระแสตอบรับดี หลังพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน หันซื้อสินค้าผ่านโลกไซเบอร์มากขึ้น เหตุสะดวก  รวดเร็ว ประหยัดเงิน  
 นายสตีฟ  แฮมเม็ทท์  ประธานกรรมการบริหาร  บริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด ผู้บริหารเทสโก้ โลตัส เปิดเผยว่า เทสโก้ โลตัสพร้อมนำเสนอค้าปลีกรูปแบบใหม่ๆ  เพื่อให้สอดรับกับพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงต่อเนื่อง  โดยในช่วงที่ผ่านมาพบว่า ผู้บริโภคให้ความสนใจการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น ทำให้บริษัทสนใจและศึกษาถึงโอกาสในการขยายช่องทางจำหน่ายผ่านทางออนไลน์ ซึ่งบริษัทมีความพร้อมของระบบจากบริษัทแม่ ที่ประเทศอังกฤษ  เปิดให้บริการช็อปปิ้งออนไลน์ผ่านทาง www.tesco.com  และได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคในระดับที่ดี
สำหรับ www.tesco.com  เริ่มเปิดให้บริการต้นปีที่ผ่านมา มีสินค้าหลากหลายทั้งสินค้าอุปโภคบริโภค  สินค้าเอนเตอร์เทนเมนต์  แฟชั่นเสื้อผ้า  สินค้าไอที   เป็นต้น ผลการดำเนินการที่ผ่านมาได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี จึงเป็นโมเดลที่ประสบความสำเร็จ ที่เทสโก้ในหลายๆ ประเทศให้ความสนใจ โดยเทสโก้ โลตัสเองสามารถนำรูปแบบการบริหารจัดการไปใช้ได้ทันที  เช่นเดียวกับที่เคยนำโมเดล บิลเพย์เม้นท์ จากบริษัทแม่ เข้ามาให้บริการรับชำระเงินค่าสินค้าและบริการ และประสบความสำเร็จสามารถบริหารจัดการให้คืนทุนได้อย่างรวดเร็ว  และยังได้ฐานลูกค้าประจำจากต้นทุนที่ถูกกว่าคู่แข่งด้วย
อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้นางสาวศุภลักษณ์  อัมพุช  รองประธานกรรมการบริหารอาวุโส  บริษัท เดอะ มอลล์  กรุ๊ปฯ ผู้บริหารเดอะ มอลล์ ,ดิ เอ็มโพเรียม และพารากอน ดีพาร์ทเม้นท์สโตร์ กล่าวยอมรับว่า  กลุ่มเดอะ มอลล์  ให้ความสนใจขยายธุรกิจสู่ธุรกิจช็อปปิ้ง ออนไลน์ โดยมีแผนที่จะเปิดตัวกลุ่มธุรกิจใหม่นี้ในต้นปีหน้า หลังจากที่ศึกษาตลาดมาได้ระยะหนึ่ง และพบว่าพฤติกรรมผู้บริโภคที่เป็นคนรุ่นใหม่ให้ความสนใจเลือกซื้อสินค้าผ่านทางอินเตอร์เน็ตมากขึ้น  และมีแนวโน้มที่จะขยายตัวต่อเนื่อง  อีกทั้งยังเป็นธุรกิจที่สามารถตอบโจทย์การตลาดสีเขียว หรือกรีน มาร์เก็ตติ้ง ซึ่งเป็นนโยบายหลักของบริษัท ซึ่งเป็นผู้บุกเบิกเรื่องของสิ่งแวดล้อมในอุตสาหกรรมค้าปลีก
 “แนวคิดช็อปปิ้งออนไลน์เป็นสิ่งที่น่าสนใจ เพราะพฤติกรรมคนรุ่นใหม่ให้ความสนใจเรื่องของอินเตอร์เน็ต เว็บไซต์ต่างๆมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ตอบโจทย์เรื่องของการประหยัดพลังงาน ลดต้นทุนด้านต่างๆ เพราะลูกค้าไม่ต้องเดินทางซื้อสินค้าที่ห้างสรรพสินค้า หรือศูนย์การค้า การสั่งซื้อ เลือกซื้อก็สะดวก รวดเร็ว และง่าย”
 แหล่งข่าวจากเซ็นทรัล กรุ๊ป ผู้บริหารเซ็นทรัล ออนไลน์ (COL) กล่าวว่า  เซ็นทรัลเปิดให้บริการเซ็นทรัล ออนไลน์ ภายใต้ชื่อเว็บไซต์  www.col.co.th มาได้ระยะหนึ่ง และได้รับการตอบรับจากกลุ่มลูกค้าประจำเป็นอย่างดี โดยปัจจุบันเซ็นทรัลออนไลน์  สามารถเชื่อมต่อไปยังหน่วยธุรกิจ (Business Unit) ต่างๆของเซ็นทรัล คอร์ปอเรชั่น หรือซีอาร์ซี  อาทิ ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล  ร้านหนังสือบีทูเอส โฮมเวิร์ค เป็นต้น  โดยเซ็นทรัลออนไลน์มีลูกค้าเข้ามาใช้บริการกว่า 10,000 ราย และมีแนวโน้มที่จะขยายตัวต่อเนื่อง  โดยเฉพาะในปัจจุบันที่การใช้คอมพิวเตอร์ อินเตอร์เน็ต แพร่หลายมากขึ้น อย่างไรก็ดีการให้บริการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ ถือเป็นหน่วยธุรกิจที่ยังเล็กอยู่ และยังต้องพัฒนาต่อเนื่อง เพื่อให้มีสินค้าและบริการที่ตรงกับความต้องการของลูกค้ามากขึ้น
 นอกจากนี้ พบว่า ห้างสรรพสินค้าหลายแห่งเริ่มให้ความสนใจในการนำเสนอสินค้าและบริการผ่านทางเว็บไซต์มากขึ้น เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบราคาสินค้า  อัพเดตเทรนด์สินค้าใหม่ๆ  โดยเฉพาะแฟชั่นเสื้อผ้า  กระเป๋า  รองเท้า รวมถึงโปรโมชันต่างๆที่ทางห้างสรรพสินค้าหรือศูนย์การค้าจัดขึ้นด้วย
 นายวรวุฒิ อุ่นใจ  กรรมการผู้จัดการ  บริษัท ออฟฟิศเมท  จำกัด (มหาชน)  ผู้จำหน่ายเครื่องเขียน อุปกรณ์สำนักงาน ออฟฟิศเฟอร์นิเจอร์ และผู้บริหารเว็บไซต์ เทรนด์ดี้เดย์ดอทคอม กล่าวว่า  ลูกค้าที่นิยมเข้ามาซื้อสินค้าผ่านทางเว็บไซต์ ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีอายุ 15-30 ปี  นิยมค้นคว้า ค้นหาสิ่งใหม่ๆ  และชื่นชอบการเลือกซื้อสินค้าที่หลากหลาย  ทำให้บริษัทต้องเพิ่มคอนเทนต์ที่หลากหลาย รวมทั้งการจัดโปรโมชันก็ถือเป็นกลยุทธ์หนึ่งที่ดึงดูดให้ลูกค้าเข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้นและต่อเนื่อง
 อย่างไรก็ดี การช็อปปิ้งออนไลน์ ถือเป็นเทรนด์ใหม่ที่น่าสนใจและมีโอกาสขยายตัวต่อเนื่อง จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่หันมาให้ความนิยมและใช้อินเตอร์เน็ตมากขึ้นทำให้เชื่อว่าในปีหน้าจะเห็นเว็บไซต์ใหม่ๆ เกิดขึ้น เพื่อสร้างกระแสและทำให้การช็อปปิ้งออนไลน์เป็นส่วนหนึ่งที่คนรุ่นใหม่ต้องใช้บริการ

ซิป้าลั่นปราบซอฟต์แวร์เถื่อน วอนคนไทยหันใช้โอเพนซอร์ส

จากโพสต์ทูเดย์ ธุรกิจ-การตลาด วันอังคารที่ 20 ตุลาคม 2552

ซิป้า เตรียมฟันซอฟต์แวร์เถื่อนสร้างมาตรฐานกฎหมาย พร้อมเจรจาคู่ค้าต่างประเทศลดราคา  นายรุ่งเรือง ลิ้มชูปฏิภาณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (ซิป้า) เปิดเผยว่า ซิป้าจะให้ความสำคัญในการปราบปรามซอฟต์แวร์เถื่อนมากขึ้น หลังพบว่าซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายยังมีอยู่มาก โดยซอฟต์แวร์ที่ถูกละเมิดลิขสิทธิ์มากที่สุด เป็นซอฟต์แวร์สำหรับการใช้งานทั่วไป ระดับราคา 1-2 หมื่นบาท

ทั้งนี้ การผลักดันให้ประชาชนหันมาใช้ซอฟต์แวร์ที่ถูกกฎหมายได้ ซอฟต์แวร์ต้องมีประสิทธิภาพในการใช้งาน และราคาถูก ซึ่งขณะนี้มีซอฟต์แวร์ที่เป็นลิขสิทธิ์ของคนไทยกว่า 2,000 รายที่มีประสิทธิภาพและราคาถูก ซึ่งซิป้าจะรณรงค์ให้คนไทยหันมาใช้ซอฟต์แวร์นี้มากขึ้น

ที่ผ่านมา ซิป้าได้เจรจากับผู้จำหน่ายซอฟต์แวร์ต่างประเทศถึงการลดราคาให้ถูกที่สุด เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการใช้งานได้ง่ายขึ้น ซึ่งล่าสุด ไมโครซอฟท์ได้ลดราคาลง 30-40% เช่น อะโดบี้ลดลง 2-3 หมื่นบาท

นอกจากนี้ ยังเดินหน้าเข้าช่วยเหลือองค์กรธุรกิจและหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งภาคประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน ในกรณีที่มีผู้ใช้ซอฟต์แวร์อย่างไม่ถูกกฎหมาย โดยจะช่วยในการส่งเสริมการใช้ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สให้มากขึ้น

ทั้งนี้ จากการศึกษาของไอดีซียังพบว่า ถ้าสามารถลดอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในประเทศไทยเพียง 10% ในปี 2556 หรืออีก 4 ปีข้างหน้า จะสามารถสร้างงานได้ถึง 2,100 ตำแหน่ง พร้อมสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจ 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ รวมถึงสร้างรายได้ทางภาษีได้ถึง 55 ล้านเหรียญสหรัฐ

นายรุ่งเรือง กล่าวว่า ปีที่ผ่านมา มูลค่าอุตสาหกรรมแอนิเมชันอยู่ที่ประมาณ 7,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าในปีนี้จะเติบโตขึ้น 17% และคาดการณ์ว่า ปี 2553 จะเติบโตถึง 3-5 หมื่นล้านบาท หรือเติบโตราว 30-50% เนื่องจากความร่วมมือประเทศเกาหลี ญี่ปุ่น และฮ่องกง

ขณะที่รายงานจากกลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ (บีเอสเอ) ประเทศไทย ระบุว่า อัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ของประเทศไทยยังนับว่าสูงอยู่ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคแม้ว่าจะลดลงเหลือ 76% ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาก็ตาม

กสทฯคุยกทช. ไฟเขียวอสมท คลื่น2.6ลุย3จี

วันศุกร์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2552

โพสต์ทูเดย์ – ซีอีโอใหม่กสทฯ เล็งเจรจากทช. ไฟเขียวอสมท ใช้คลื่น 2.6 กิกะเฮิรตซ์ ลุย โทรคมนาคม

นายจิรายุทธ รุ่งศรีทอง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม เปิดเผยหลังได้รับตำแหน่งเมื่อวันที่ 17 ก.ย.ว่า จะเน้นดำเนินธุรกิจร่วมกับพันธมิตร โดยมีแผนร่วมมือกับบริษัท อสมท ในการใช้ทรัพย์สินที่มีอยู่ร่วมกัน โดยเฉพาะคลื่นความถี่ 2.6 กิกะเฮิรตซ์ที่ อสมท มีอยู่ ซึ่งสามารถใช้ประโยชน์ในกิจการโทรคมนาคมได้ เช่น การให้บริการ 3จี โครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงไร้สาย (ไวแมกซ์)
ในเบื้องต้นจะต้องเจรจากับคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ถึงเงื่อนไขการขอนำคลื่นดังกล่าวมาใช้ เนื่องจากเป็นคลื่นที่ถูกกำหนดให้ใช้ในกิจการกระจายเสียง (บรอดคาสติง) และหากทำได้จะได้เห็นบริการใหม่ๆ ที่ใช้คลื่นของ อสมท ผ่านโครงข่ายกสทฯ ในลักษณะผสานเทคโนโลยี (คอนเวอร์เจนซ์)

นอกจากนี้ จะเสนอกทช. ให้กสทฯ เข้าร่วมประมูลใบอนุญาตให้บริการ (ไลเซนส์) 3จี บนคลื่นความถี่ 2.1 กิกะเฮิรตซ์ได้ด้วย จากเดิมที่เงื่อนไขของกทช. ระบุว่า กสทฯ ไม่สามารถเข้าร่วมได้ เนื่องจากมีผู้ถือหุ้นเดียวกับทีโอที ที่ได้รับ ไลเซนส์ 3จี ไปแล้ว

ดังนั้น กสทฯ จึงต้องการเข้าร่วมประมูลไลเซนส์ 3จี ภายใต้ความร่วมมือกับพันธมิตรจากต่างประเทศ เพราะจะช่วยต่อยอดธุรกิจบริการ ไร้สายของกสทฯ เพิ่มมากขึ้น โดยจะใช้สถานีฐานของซีดีเอ็มเอที่มี อยู่รวม 2,700 สถานีทั่วประเทศ และเป็นการปูทางสู่เทคโนโลยีอนาคตอย่างแอลทีอี (Long Term Evolution) ด้วย

ทั้งนี้ การเร่งแผนธุรกิจเชิง รุกเพื่อทดแทนรายได้จากบริการ โทร.ต่างประเทศที่ลดลง รวม ถึงรายได้จากสัมปทานที่จะหาย ไป ส่วนปีนี้คาดมีรายได้ 5.2 หมื่นล้านบาท