ไอซีทีฮุบงบ 2 หมื่นล. 3G

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 2,478  12  พ.ย. – 14 พ.ย. 2552

“รมต.ไอซีที” สนับสนุนเดินหน้าโครงการขยายเครือข่ายมือถือ 3G เฟสหนึ่งมูลค่าสองหมื่นล้านบาท เปิดใจมีผู้ใหญ่ใน ครม.เศรษฐกิจ สั่งให้ยกเลิกโครงการ ปักหลักยืนตามคำสั่ง ครม.ชุดใหญ่ชี้นโนบายรัฐบาลต้องการพัฒนาเครือข่ายไอซีทีทั่วประเทศ พร้อมยืนเคียงข้างรัฐวิสาหกิจ

      ร.ต.หญิงระนองรักษ์ สุวรรณฉวี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร หรือ ไอซีที  เปิดเผยเกี่ยวกับความคืบหน้าเปิดประมูลโทรศัพท์เคลื่อนที่ย่านความถี่ 1900 เมกะเฮิรตซ์เฟสที่หนึ่งมูลค่า 20,000 ล้านบาท เพื่อให้บริการมือถือ 3G ของ บมจ.ทีโอที ว่านโยบายของกระทรวงไอซีที จะทำตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2551 และเป็นไปตามนโยบายด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ระบุว่าต้องพัฒนาโครงข่ายสื่อสารโทรคมนาคมพื้นฐานให้ครอบคลุมทั่วประเทศ และสร้างโอกาสในการเข้าถึงบริการสื่อสารอย่างเท่าเทียมกัน แม้ปัจจุบันระบบมือถือ 3G ของประเทศไทยพัฒนาล่าช้ากว่าต่างประเทศ เพราะการดำเนินธุรกิจ 3G ของ บมจ.ทีโอที ทั้งเฟสศูนย์(หมายถึง;โครงการที่ บมจ.ทีโอที ลงทุนไปแล้ว 1,700 ล้านบาท) และเฟสที่หนึ่ง ไม่เกี่ยวข้องกับการออกใบอนุญาตประกอบธุรกิจมือถือ 3G ของ สำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) เพราะหาก ทีโอที หยุดดำเนินการตามแผนจะทำให้ประเทศเสียโอกาสทางธุรกิจได้
       “ที่ประชุมครม.เศรษฐกิจ(4 พ.ย.2552)มีผู้ใหญ่คนหนึ่งบอกให้ยกเลิก  พี่ (ร.ต.หญิงระนองรักษ์) บอกว่าทำไมต้องยกเลิกเพราะนโยบายของรัฐบาลต้องการพัฒนาโครงข่ายสื่อสารโทรคมนาคมทั่วประเทศ พี่เป็นคนทำงานไม่ล้วงลูกรัฐวิสาหกิจ และจะยืนเคียงข้างรัฐวิสาหกิจแต่ต้องไปถูกทิศถูกทางและตอนนี้ ทีโอที ก็ไปถูกทิศทาง ”
       ร.ต.หญิงระนองรักษ์ ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า สำหรับการพัฒนาโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 3G ของ บมจ.ทีโอที ใช้งบประมาณจำนวน 20,000 ล้านบาทจากเดิมมีการอนุมัติ 29,000 ล้านบาทโดยใช้งบประมาณจากเงินกู้ทั้งในและต่างประเทศโดยมี กระทรวงการคลัง ทำหน้าที่ค้ำประกันเพราะจะได้ดอกเบี้ยต่ำ และ โครงการนี้ไม่ใช้งบประมาณจากโครงการไทยเข้มแข็ง
       “เรายื่นขอลดวงเงินจาก 29,000 ล้านบาทเหลือ 20,000 ล้านบาทที่ปรับลดราคาเพราะค่าอุปกรณ์ได้ปรับตัวลดลงเนื่องจากมีผู้ใช้บริการทั่วโลกและมีบริษัทผู้ผลิตที่เก่งเรื่อง 3G อยู่ในบริษัทไทยถึง 5 บริษัททำให้เราสามารถปรับลดราคาลงมาได้”
       นอกจากนี้ร.ต.หญิงระนองรักษ์ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า บมจ.ทีโอที จะเปิดให้บริการระบบ 3G (เฟสศูนย์) เป็นครั้งแรกในวันที่ 3 ธันวาคม 2552 ในเขตกรุงเทพมหานคร และ ปริมณฑล โดยมีจำนวนสถานีให้บริการ 548 สถานีฐาน และเฟสที่หนึ่งได้มอบหมายนโยบายให้ บมจ.ทีโอที ลงทุนติดตั้งเครือข่ายเพิ่มเติมในภาคอุตสาหกรรมและภาคท่องเที่ยวเป็นหลัก และยังได้มอบหมายให้ บมจ.ทีโอที และ บมจ.กสท โทรคมนาคม ตรวจสอบสัญญาสัมปทานเดิมที่ทำไว้กับคู่สัญญาทำให้ถูกต้องเพื่อพิจารณาการกำหนดแนวทางการแปรสัญญาสัมปทาน
       ขณะที่ศ.ดร.ธีรวุฒิ บุณยโสภณ ประธานกรรมการ บมจ.ทีโอที กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า บมจ.ทีโอที ได้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐมนตรีไอซีที (ร.ต.หญิงระนองรักษ์ สุวรรณฉวี)ผลักดันให้มือถือ 3G เปิดในวันที่ 3 ธันวาคม 2551 เวลาบ่าย 3 โมง ส่วนเรื่องการเปิดประมูลโครงข่าย 3G ในเฟสที่หนึ่ง บมจ.ทีโอที ได้จัดทำร่างเงื่อนไขสัญญาเป็นภาคภาษาอังกฤษเสร็จเรียบร้อยแล้วและเตรียมส่งให้สำนักงานคณะกรรมการอัยการสูงสุดพิจารณาหลักการตามระเบียบเปิดประมูลหรือไม่ซึ่งนโยบายของกระทรวงไอซีทีต้องการทำคู่ขนาน
       “เมื่อร่าง ทีโอที แล้วเสร็จเราก็จะประกาศบนเว็บเพื่อความโปร่งใสเพราะตามกำหนดการเดิมภายในเดือนเมษายน 2553 ได้ผู้ชนะการประมูล ส่วนเรื่องแผนธุรกิจเป็นเรื่องความลับของบมจ. บมจ.ทีโอที ไม่สามารถนำมาเปิดเผยได้”
      ขณะที่นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี ได้ชี้แจงการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ครม.เศรษฐกิจผ่านเว็บไซต์ www.korbsak.com ตอนหนึ่งว่า   ครม.ให้ความเห็นชอบแผนแม่บท(แผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ฉบับที่ 2 ของประเทศไทย (พ.ศ.2552-2556) ที่ผ่านความเห็นชอบจาก ครม.เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2552) นี้ไม่ได้หมายถึงการอนุญาตให้ยกเลิกสัญญาสัมปทาน  แต่หมายถึงการนำมูลค่าสัญญาทั้งหมดมาคำนวณให้เป็นมูลค่าในปี 2553  คู่สัญญาจะชำระเงินทั้งหมดในวันยุติสัญญาหรือชำระในช่วงเวลาตามกำลังความสามารถก็ตกลงกันได้     ถือว่าเป็นการยุติสัญญาสัมปทาน
      สำหรับแนวทางการแก้ไขในฐานะประธานคณะกรรมการ กนร.  เป็นคณะกรรมการที่กำกับงานนโยบายของรัฐวิสาหกิจ คงต้องเร่งประชุมโดยนำเรื่องการแก้ไขสัญญาสัมปทานที่ผิดกฎหมายนี้มาพิจารณาเพื่อส่งต่อครม.  ให้มีมติเร่งรัดกระทรวงดำเนินการ   และน่าจะได้รวมแผนยุติสัญญาสัมปทานในปี 2553 (ตามแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคม) เข้าด้วยกัน    คือเจรจาแก้ไขให้แล้วเสร็จพร้อมกันไป   ควรกำหนดเวลาด้วย   เช่นวางเป้าหมายไว้ 180 วัน
แต่อุปสรรคในการเจรจามีมาก  เช่น  รัฐ โดยทีโอที มีรายได้จากสัญญาสัมปทาน (AIS) ประมาณ 23,000 ล้านบาทต่อปี   สิ้นสุดสัญญาปี 2558 เหลืออีก 7 ปี   รายได้ส่วนนี้ไม่หนี 160,000 ล้านบาท     ส่วน กสท มีรายได้ประมาณ 15,000 ล้านบาทต่อปี   (AIS 1800  สัญญาหมดปี 2556    DTAC 800 – 1,800 สัญญาหมดปี 2561     TRUE 1,800 สัญญาหมดปี 2556)   คิดเฉลี่ยทุกสัญญา  4-9 ปี  รายได้น่าจะรวมแล้วกว่า 100,000 ล้านบาท   รวมรายได้เรื่องของมือถือที่เป็นส่วนแบ่งให้กับรัฐ เกือบ 200,000 ล้านบาท

Posted on November 18, 2009, in IT. Bookmark the permalink. Leave a comment.

Leave a comment